ตะไคร้หอม ๒

Cymbopogon nardus (L.) Rendle var. confertiflorus (Steud.) Bor

ชื่ออื่น ๆ
จะไคมะขูด, ตะไครมะขูด (เหนือ); ตะไคร้แดง (นครศรีธรรมราช)
ไม้ล้มลุกหลายปีพวกหญ้า ขึ้นเป็นกอแน่น ลำต้นเทียมเกิดจากกาบใบเรียงสลับโอบซ้อนกันแน่น ตั้งตรง มีเหง้าใต้ดิน ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปแถบ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงเชิงประกอบซ้อน ออกที่ยอด ช่อแขนงย่อยออกเป็นคู่ ช่อดอกย่อยออกเป็นคู่แบบไร้ก้านและแบบมีก้าน ผลแบบผลแห้งเมล็ดติด รูปทรงกระบอกถึงรูปทรงค่อนข้างกลม ขนาดเล็กมาก เมล็ดรูปคล้ายผล

ตะไคร้หอมชนิดนี้เป็นไม้ล้มลุกหลายปีพวกหญ้า ขึ้นเป็นกอแน่น ลำต้นเทียมเกิดจากกาบใบเรียงสลับโอบซ้อนกันแน่น ตั้งตรง สูงได้ถึง ๒.๕ ม. มีเหง้าใต้ดิน ตามข้อมักป่อง

 ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปแถบ กว้าง ๑.๕-๒ ซม. ยาวประมาณ ๑ ม. ปลายเรียวแหลม โคนเรียว ขอบมีขนสาก แผ่นใบด้านบนเกลี้ยง ด้านล่างมีขนสาก เส้นใบขนานจากโคนสู่ปลาย ลิ้นใบเป็นเยื่อบาง ยาว ๑-๓ มม. กาบใบยาวได้ถึง ๓๐ ซม. เรียงซ้อนเหลื่อมและมักแยกออกจากลำต้นเมื่อแก่ โคนกาบใบด้านนอกสีม่วงแกมสีแดง ด้านในสีแดง

 ช่อดอกแบบช่อแยกแขนงเชิงประกอบซ้อน ออกที่ยอด ยาว ๕๐-๗๐ ซม. ช่อแขนงย่อยแตกใกล้ กันทำให้ช่อดอกค่อนข้างแน่น ช่อแขนงย่อยออกเป็นคู่ แต่ละคู่มีกาบสีน้ำตาลรองรับ กาบรูปรี ยาว ๑.๒-๑.๕ ซม. ช่อแขนงย่อยยาว ๑.๕-๑.๗ ซม. แต่ละช่อแขนง


มีช่อดอกย่อยหลายช่อบนแกนกลาง เรียวเล็ก ยาวประมาณ ๒.๕ มม. ขอบของแกนกลางมีขน ช่อดอกย่อยออกเป็นคู่แบบไร้ก้านและแบบมีก้าน ช่อดอกย่อยแบบไร้ก้านรูปใบหอกแกมรูปขอบขนาน ยาว ๔-๔.๕ มม. กาบช่อดอกย่อยล่างรูปใบหอกแกมรูปไข่ ยาว ๔-๔.๕ มม. ปลายแหลม ด้านหลังเรียบ สันด้านบนแผ่เป็นปีก มีเส้นเป็นสันตามยาว ๒-๓ เส้น กาบช่อดอกย่อยบนรูปใบหอก ขนาดเล็กกว่ากาบช่อดอกย่อยล่างเล็กน้อย ปลายแหลม สันด้านบนแผ่เป็นปีก อาจไม่มีเส้นเป็นสันตามยาวหรือมีได้ถึง ๓ เส้น ช่อดอกย่อยแต่ละช่อมีดอกย่อย ๒ ดอก ดอกล่างเป็นหมัน กาบล่างเป็นเยื่อบาง ไม่มีกาบบน ดอกบนเป็นดอกสมบูรณ์เพศ กาบล่างปลายหยักเป็น ๒ หยัก ระหว่างหยักอาจมีรยางค์แข็ง ยาวประมาณ ๗.๕ มม. ไม่มีกาบบน กลีบเกล็ดขนาดเล็ก มี ๒ กลีบ เกสรเพศผู้ ๓ เกสร ก้านชูอับเรณูคล้ายเส้นด้าย อับเรณูติดไหว รังไข่อยู่เหนือวงกลีบ มี ๑ ช่อง มีออวุล ๑ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียมี ๒ ก้าน ยอดเกสรเพศเมียมีขนยาวนุ่มเป็นพู่ ช่อดอกย่อยแบบมีก้านมีส่วนประกอบและรูปคล้ายกับช่อดอกย่อยแบบไร้ก้าน ดอกล่างเป็นหมัน ดอกบนเป็นดอกเพศผู้ไม่มีรยางค์แข็ง

 ผลแบบผลแห้งเมล็ดติด รูปทรงกระบอกถึงรูปทรงค่อนข้างกลม ขนาดเล็กมาก เมล็ดรูปคล้ายผล

 ตะไคร้หอมชนิดนี้เป็นไม้ปลูกในประเทศไทยทั่วทุกภาค มีถิ่นกำเนิดในประเทศศรีลังกา นำเข้ามาปลูกเพื่อสกัดน้ำมัน พบปลูกทั่วไปในประเทศเขตร้อนทั่วโลก โดยเฉพาะอินเดีย ประเทศในแถบอินโดจีน และอินโดนีเซีย

 ประโยชน์ ทั้งต้นใช้สกัดน้ำมันหอมระเหยผสมในสบู่และแชมพู น้ำมันตะไคร้หอม (citronella oil) สามารถไล่แมลงและยุงได้.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
ตะไคร้หอม ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
Cymbopogon nardus (L.) Rendle var. confertiflorus (Steud.) Bor
ชื่อสกุล
Cymbopogon
คำระบุชนิด
nardus
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl
- Rendle, Alfred Barton
ชื่อชนิดย่อย (ถ้ามี)
var. confertiflorus
ชื่อผู้ตั้งชนิดย่อย (ถ้ามี)
- (Steud.) Bor
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Linnaeus, Carl (1707-1778)
- Rendle, Alfred Barton (1865-1938)
ชื่ออื่น ๆ
จะไคมะขูด, ตะไครมะขูด (เหนือ); ตะไคร้แดง (นครศรีธรรมราช)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.อัจฉรา ตีระวัฒนานนท์ และ รศ. ดร.สราวุธ สังข์แก้ว